มาตรฐานระบบดับเพลิงด้วยน้ำชนิดมีตู้สายฉีดน้ำดับเพลิง (Fire hose cabinet) มีรายละเอียดดังนี้
1) มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย วสท. 3002–51 ภาคที่ 5 มาตรฐานระบบดับเพลิง หมวด 6 ระบบท่อยืนและสายฉีดน้ำดับเพลิง ได้กำหนดรายละเอียดไว้ดังนี้
1.1) ประเภทของการใช้งาน ระบบท่อยืนและสายฉีดน้ำดับเพลิง แบ่งตามประเภทของการใช้งานได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.1.1) ประเภทที่ 1: ติดตั้งวาล์วสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 65 มิลลิเมตร สำหรับพนักงานดับเพลิงหรือผู้ที่ได้ผ่านการฝึกการใช้สายฉีดน้ำดับเพลิงขนาดใหญ่เท่านั้น
1.1.2) ประเภทที่ 2: ติดตั้งชุดสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 25 มิลลิเมตร หรือ 40 มิลลิเมตร สำหรับผู้ใช้อาคารเพื่อใช้ในการดับเพลิงขนาดเล็ก
1.1.3) ประเภทที่ 3: ติดตั้งชุดสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 25 มิลลิเมตร หรือ 40 มิลลิเมตร สำหรับผู้ใช้อาคารและวาล์วสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 65 มิลลิเมตร สำหรับพนักงานดับเพลิงหรือผู้ที่ได้รับการฝึกในการใช้สายฉีดน้ำดับเพลิงขนาดใหญ่
1.2) การจัดเตรียมระบบท่อยืน ให้จัดเตรียมระบบท่อยืนประเภทต่างๆ สำหรับอาคารหรือพื้นที่ตามที่ปรากฏในตารางที่ 1
1.3) สายฉีดน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์
1.3.1) สายฉีดน้ำดับเพลิง (Fire hose): อาคารที่ติดตั้งท่อยืนประเภทที่ 2 และ 3 จะต้องจัดให้มีสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 25 มิลลิเมตร ยาว 30 เมตร หรือขนาด 40 มิลลิเมตร ยาว 30 เมตร
1.3.2) อุปกรณ์เก็บสายฉีดน้ำดับเพลิง (Hose reel or hose rack)
สำหรับสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาด 25 มิลลิเมตร จะต้องม้วนอยู่ในขนาด 40 มิลลิเมตร จะต้องจัดให้มีที่แขวนเก็บสายฉีดน้ำดับเพลิงหรืออุปกรณ์ดังกล่าว ทั้งหมดจัดวางให้สะดวกต่อการใช้ในตู้ดับเพลิง
ต้องจัดให้มีป้ายแสดงถึงการใช้สายฉีดน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์ โดยแสดงเป็นรูปภาพและตัวอักษรที่มีขนาดเหมาะสมเห็นได้ชัดและเข้าใจง่าย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย วสท. 3002–51 ภาคที่ 5 มาตรฐานระบบดับเพลิงหมวด 6 ระบบท่อยืนและสายดับเพลิงหน้า 167–181
2) ตามคู่มือเทคนิคการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย (สำหรับตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย) ภาคที่ 7 เทคนิคการตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับตู้สายฉีดน้ำดับเพลิง (fire hose cabinet) ไว้ตามที่แสดงในรูปที่ 1 และมีรายละเอียดดังนี้
2.1) ต้องมีระยะห่างระหว่างตู้ไม่เกิน 64 เมตร
2.2) มีสายส่งน้ำดับเพลิง (fire hose)
2.3) มีวาล์วควบคุม เปิด–ปิดด้วยมือหรืออัตโนมัติ
2.4) มีหัวฉีดน้ำดับเพลิงแบบปรับการฉีดน้ำเป็นลำ เป็นฝอย และเป็นม่านได้ (jet–spray–steam)
2.5) มีป้ายสัญลักษณ์
3) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) และฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ได้กำหนดรายละเอียดสำหรับอาคารประเภทต่างๆ ดังนี้
3.1) กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ได้กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีการติดตั้งระบบดับเพลิงด้วยน้ำชนิดมีตู้สายฉีดน้ำดับเพลิง (fire host cabinet, FHC) ดังนี้
ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
3.1.1) ทุกชั้นของอาคารต้องมีตู้สายฉีดน้ำดับเพลิง (FHC) ที่ประกอบด้วยหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงพร้อมสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 มิลลิเมตร และหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงชนิดหัวต่อสวมเร็วขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 มิลลิเมตร พร้อมทั้งฝาครอบและโซ่ร้อยติดไว้ทุกระยะไม่เกิน 64.00 เมตร และเมื่อใช้สายฉีดน้ำดับเพลิงยาวไม่เกิน 30.00 เมตรต่อจากตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิงแล้วสามารถนำไปใช้ดับเพลิงในพื้นที่ทั้งหมดในชั้น
3.1.2) อาคารสูงต้องมีที่เก็บน้ำสำรองเพื่อใช้เฉพาะในการดับเพลิงและให้มีประตูน้ำปิด–เปิด และประตูน้ำกันน้ำไหลกลับอัตโนมัติด้วย
3.1.3) หัวรับน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งภายนอกอาคารต้องเป็นชนิดข้อต่อสวมเร็วขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 มิลลิเมตร สามารถรับน้ำจากรถดับเพลิงที่มีข้อต่อสวมเร็วแบบมีเขี้ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 มิลลิเมตร ที่หัวรับน้ำดับเพลิงต้องมีฝาปิด–เปิดที่มีโซ่ร้อยติดไว้ด้วย ระบบท่อยืนทุกชุดต้องมีหัวรับน้ำดับเพลิงนอกอาคาร 1 หัวและอยู่ใกล้หัวท่อดับเพลิงสาธารณะมากที่สุดพร้อมป้ายข้อความเขียนด้วยสีสะท้อนแสดงว่า “หัวรับน้ำดับเพลิง”
3.1.4) ปริมาณการส่งจ่ายน้ำสำรองต้องสามารถส่งจ่ายน้ำสำรองได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที
3.2) กฎกระทรวงฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) และฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ได้กำหนดให้อาคารสูงต้องมีระบบดับเพลิงด้วยน้ำชนิดสายส่งท่อน้ำดับเพลิง ดังนี้
ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
3.2.1) อาคารขนาดใหญ่ต้องจัดให้มีระบบท่อยืน สายฉีดน้ำพร้อมอุปกรณ์หัวรับน้ำดับเพลิงชนิดข้อต่อสวมเร็วขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 มิลลิเมตร เพื่อดับเพลิงได้ทุกส่วนของอาคาร
3.2.2) ส่วนอาคารทั่วไปที่มิใช่อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ มิได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้